ชนิดภาพและประเภทไฟล์ในงานกราฟิก
ในการทำงานกราฟิก การทราบชนิดภาพและประเภทไฟล์ในงานกราฟิกเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยให้เราได้งานและอาร์ตเวิร์คตามที่ต้องการ เพื่อใช้ในงานโฆษณาต่างๆ ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นชนิดภาพ ประเภทไฟล์ ความละเอียดของภาพ โหมดสีในงาน สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่กราฟิกดีไซน์ต้องมีความรู้
ชนิดภาพกราฟิก Bitmap&Vector
ภาพที่ใช้ในการทำงานกราฟิก จัดอาร์ตเวิร์ค หรือจัดเลย์เอาท์ จะมีอยู่ 2 แบบคือ ภาพแบบ Bitmap และภาพแบบ Vector
Bitmap
คือภาพที่เกิดจากจุดสีสี่เหลี่ยมเล็กๆ มีสีสันต่างๆ ที่เรียกว่า จุดพิเซล(pixel) มาเรียงต่อกันจนเกิดเป็นรูปภาพ ตัวอย่างของภาพชนิดนี้ก็คือ รูปภาพที่เราเห็นโดยทั่วไป เช่นภาพถ่าย และภาพที่เราเห็นใน Internet ข้อดีของภาพแบบBitmap คือสามารถเปิดดูได้ง่าย ไม่ต้องใช้โปรแกรมเฉพาะ ข้อเสียคือขยายขนาดใหญ่มากๆ เกินความละเอียดภาพที่กำหนดไว้ไม่ได้เพราะจะทำให้ภาพแตก เห็นเป็นตารางPixel ทันที ดังนั้นหากต้องการใช้เป็นขนาดใหญ่ ต้องกำหนดความละเอียดไว้สูงๆ ตั้งแต่ต้นทาง นั้นก็จะทำให้ขนาดไฟล์ภาพใหญ่ขึ้นตามไปด้วย ไฟล์ตระกูลรูปภาพ เช่น JPG, BMP, TIFF หรือ PNG
Vector
คือภาพที่เกิดจากสูตรคำนวณทางคณิตศาสตร์ ส่วนใหญ่จะเป็นภาพวาดลายเส้น เช่นภาพวาดจากโปรแกรม Illustrator ไฟล์ Vector จะเรียกว่าเป็นไฟล์ดิบ ข้อดีของไฟล์ภาพชนิดนี้คือ สามารถย่อ-ขยาดภาพได้โดยไม่เสียรายละเอียด คือไม่แตกนั่นเอง จนกว่าจะนำไปแปลงเป็นไฟล์ Bitmap เพื่อเปลี่ยนรูปภาพแล้วนำไปใช้งาน ข้อเสียคือ ต้องใช้โปรแกรมเฉพาะในการเปิดไฟล์ เช่นไฟล์ Ai จะต้องเปิดกับโปรแกรม Illustrator เท่านั้น
กำหนดความละเอียดของภาพ (Resolution)
ในส่วนของภาพ Bitmap การกำหนด่าความละเอียดของภาพก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้ชิ้นงานได้ผลลัพธ์ออกมาดี ภาพนำไปใช้งานไม่แตกเบลอ เหมาะสมกับลักษณะของงานที่จะนำไปใช้ โดยแต่ละลักษณะงานมีการกำหนดค่าความละเอียดภาพดังนี้
- ค่าความละเอียด 72 Pixel/Inch : สำหรับการแสดงบนจอคอมพิวเตอร์ เช่น ภาพโฆษณาบนสื่อโซเซียลมีเดีย ภาพงานบนเว็บไซต์ รูปภาพต่างๆ บนออนไลน์
- ค่าความละเอียด 150 Pixel/Inch : สำหรับภาพที่จะนำไปพิมพ์บนอุปกรณ์ Printer งานพิมพ์ทั่วไปขนาดเล็กและขนาดกลาง
- ค่าความละเอียด 300 Pixel/Inch : สำหรับงานพิมพ์ที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ขนาดใหญ่ ปกหนังสือ โปสเตอร์ ป้ายโฆษณาคัทเอาท์ งานพิมพ์ Inkjet ขนาดใหญ่ งานพิมพ์ออฟเซ็ตต่างๆ
ประเภทไฟล์ในงานกราฟิก
ไฟล์แต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับงานกราฟิกในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ดังนั้นการเลือกบันทึก Save เป็นไฟล์ในชนิดที่เหมาะสม จะทำให้ได้งานที่ต้องการ กระบวนการทำงานที่รวดเร็วขึ้นและเหมาะสม ดังนั้นผู้ใช้งานกราฟิกควรรู้จึกชนิดของไฟล์ และนักออกแบบกราฟิกเลือกใช้ให้เหมาะสม ได้แก่
ไฟล์ JPEG เป็นไฟล์ภาพที่นิยมใช้งานบนอินเตอร์เน็ต หรือรูปภาพดิจิตอล
ข้อดี : ไฟล์จะถูกบีบอัดจนมีขนาดไม่ใหญ่มาก เปิดได้เร็ว ใช้ในงานพิมพ์ Inkjet ได้
ข้อเสีย : ไม่เหมาะสมกับงานพิมพ์ที่ต้องการคุณภาพสูง
ไฟล์ BMP เป็นไฟล์ภาพของระบบปฎิบัติการ Windows
ข้อดี : เก็บรายละเอียดของรูปได้มาก เหมาะสำหรับนำไปตกแต่งต่อ
ข้อเสีย : ไฟล์ใหญ่เปิดดูได้ช้าและไม่รองรับโหมดสีสิ่งพิมพ์ CMYK จึงนำไปใช้ในงานสื่อสิ่งพิมพ์ไม่ได้
ไฟล์ TIFF เป็นไฟล์ภาพที่เก็บรายละเอียดของงานได้ครบถ้วนสมบูรณ์
ข้อดี : สามารถบันทึกเลเยอร์เก็บไว้ใช้ต่อได้ ใช้ได้ทั้ง Windows และ Mac รองรับโหมดสี CMYK
ข้อเสีย : ไฟล์ใหญ่เปิดดูได้ช้า และใช้โปรแกรมเฉพาะในการแก้ไข
ไฟล์ PNG เป็นไฟล์ภาพที่ถูกบีบอัดมีขนาดเล็กมากๆ
ข้อดี : สามารถบันทึกให้มีพื้นหลังแบบโปร่งใสได้ เหมาะสำหรับงานเว็บไซต์ งานบนอินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์
ข้อเสีย : ไม่เหมาะสมกับงานพิมพ์
ไฟล์ PSD เป็นไฟล์ที่สร้างจากโปรแกรม Photoshop
ข้อดี : สามารถบันทึกการแก้ไขต่างๆ และแยกเลเยอร์เอาไว้ สำหรับนำกลับมาแก้ไขตกแต่งต่อไปได้ ส่งโรงพิมพ์ได้
ข้อเสีย : ไฟล์มีขนาดใหญ่มาก
ไฟล์ AI เป็นไฟล์ภาพ Vector ภาพที่เกิดจากการวาดภาพ สร้างจากโปรแกรม Illustrator
ข้อดี : สามารถส่งไฟล์นี้เข้าโรงพิมพ์ได้ สามารถแก้ไขและตกแต่งต่อไปได้ รองรับโหมดสี CMYK และ RGB
ข้อเสีย : ไม่สามารถเปิดในโปรแกรมทั่วไปได้ เปิดดูได้ในโปรแกรม Illustrator หรือโปรแกรมของ Adobe
ไฟล์ EPS เป็นไฟล์ภาพที่ถูกแปลงออกมาจากไฟล์ที่ทำงานในโปรแกรม Illustrator
ข้อดี : สามารถส่งไฟล์นี้เข้าโรงพิมพ์ได้ ตัวไฟล์จะดึงรูปภาพที่ใช้ในการทำงานมาฝังไว้ในไฟล์ด้วย รองรับโหมดสี CMYK และ RGB
ข้อเสีย : ไม่สามารถเปิดในโปรแกรมทั่วไปได้ เปิดดูได้ในโปรแกรม Illustrator หรือโปรแกรมของ Adobe
ไฟล์ PDF เป็นไฟล์ที่มีระบบรักษาความปลอดภัยค่อนข้างดี
ข้อดี : เก็บความละเอียดได้มาก ไฟล์มีขนาดเล็ก รองรับงานพิมพ์งานเอกสารในระดับโรงพิมพ์ สามารถเปิดดูได้ในหลายโปรแกรม และยังทำเป็นไฟล์ E Book หนังสือออนไลน์ได้อีกด้วย
ข้อเสีย : หากมีการแก้ไขงานหรือตกแต่งเพิ่มเติมอาจทำได้ยาก หรือต้องใช้โปรแกรมเฉพาะในการแก้ไข
โหมดสี RGB & CMYK
คือรูปแบบการผสมสี เพื่อนำไปใช้กับงานประเภทต่างๆ โดยโหมดสีทั้ง 2 แบบ มีความเหมาะสมกับงานที่แตกต่างกันออกไป
RGB โหมดสีสำหรับแสดงผลบนหน้าจอ เป็นโหมดสีที่เกิดจากการผสมของแม่สีทางแสง 3 สี ได้แก่ สีแดง (Red), สีเขียว (Green) และสีน้ำเงิน (Blue) นำไปใช้ในการแสดงผลบนหน้าจอ เหมาะกับงานอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ งานออนไลน์ และงานมัลติมีเดียทุกชนิด สีโหมดนี้มีความสด และค่าอิ่มตัวสูง ไม่เหมาะสำหรับระบบสื่อสิ่งพิมพ์
CMYK โหมดสีสำหรับงานสิ่งพิมพ์ เป็นโหมดสีที่เกิดจากการผสมกันของแม่สีทางวัตถุ หรือแม่สีที่เป็นหมึกพิมพ์จริงๆ ให้ผลลัพธ์ตรงกับสีธรรมชาติมากที่สุด ได้แก่ สีฟ้า (Cyan), สีบานเย็น (Magenta), สีเหลือง (Yellow) และสีดำ (Black) นำไปใช้ในงานสื่อสิ่งพิมพ์ทุกชนิด